Open on Mon – Fri 09:00-18:00

ไขมันในร่างกาย

รู้จักกับไขมันในร่างกาย

ไขมัน…คำสั้นๆ ที่สร้างความกังวลใจให้กับหลายๆ คน เพราะคนส่วนใหญ่มักนึกถึงความอ้วน เซลลูไลท์ และโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมา แต่จริงๆ แล้ว เจ้าก้อนกลมๆ สีเหลืองขนาดเล็กนั้น มีความมหัศจรรย์ และมีประโยชน์มากมายต่อร่างกายของเรา ทั้งเป็นแหล่งสะสมพลังงาน สร้างความอบอุ่น เป็นหมอนรองรับแรงกระแทก เป็นแหล่งของกรดไขมันจำเป็นที่สำคัญต่อการสร้างฮอร์โมนและสารประกอบสำคัญในร่างกายเพื่อส่งเสริมการทำงานของเซลล์ให้เป็นไปอย่างปกติ ช่วยดูดซึมวิตามิน A, D, E และ K เข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยให้ร่างกายดูอ่อนเยาว์อีกด้วย

 

ความพิเศษของเซลล์ไขมัน คือ เกิดแล้วไม่มีวันตาย และสามารถขยายตัวเองได้อย่างไม่จำกัดถึงกว่า 1000 เท่า เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกระเป๋าสะพายของคุณผู้หญิง ที่ถึงภายนอกจะเห็นว่ามีขนาดเล็กพกพาสะดวก แต่กลับจุสิ่งของได้มากมายเกินคาด และเมื่อร่างกายมีพลังงานสะสมมากเกินกว่าที่เซลล์ไขมันสามารถรับไหว ร่างกายจะผลิตเซลล์ไขมันเพิ่มขึ้นมาใหม่ได้อย่างไม่จำกัด เพื่อรองรับพลังงานสำรองเหล่านั้น ซึ่งการสะสมของไขมันในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ตามเพศ การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เรามีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป และบางครั้งไขมันส่วนเกินเหล่านั้นอาจไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเช่น บริเวณ หัวใจ ตับ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้

 

สำหรับไขมันในร่างกาย (Body Fat) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose Tissue) นั้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในร่างกาย เจ้าเนื้อเยื่อไขมัน จะประกอบไปด้วยเซลล์ไขมัน (Adipocyte) ซึ่งเป็นเหมือนบัญชีเงินฝากพลังงานเพื่อสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ซึ่งเจ้าก้อนเล็กๆ นี้เป็นแหล่งพลังงานที่ดีของร่างกาย ไขมันจากอาหารที่เราทานเข้าไปปริมาณ 1 กรัม สามารถให้พลังงานได้มากถึง 9 กิโลแคลอรี่ ในขณะที่โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงานเพียง 4 กิโลแคลอรี่

ไขมันในร่างกาย

เนื้อเยื่อไขมันในร่างกายที่เราอาจไม่เคยรู้ แบ่งเป็น 2 ประเภท

  • ไขมันสีขาว (White adipose tissue ; WAT) เป็นแหล่งสะสมพลังงานไว้ในร่างกาย เพื่อใช้ยามจำเป็น แต่การสะสมมากเกินไปจะทำให้เรามีร่างกายที่สมบูรณ์ เจ้าเนื้อ หรือมีห่วงยางบริเวณรอบเอวได้ หลายๆคน จึงพยายามจะกำจัดออกจากร่างกาย ไขมันสีขาว ประกอบไปด้วย ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) ประมาณ 90% ส่วนประกอบที่เหลือเป็นน้ำ และระบบผลิตเอนไซม์ต่างๆ มีประโยชน์ในการช่วยผลิตฮอร์โมนอะดิโปเนกติน (Adiponectin) ที่ช่วยให้ร่างกายไวต่ออินซูลิน ซึ่งทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานและหัวใจ พบประมาณ 20% และ 25% ของน้ำหนักตัวของเพศชายและหญิงตามลำดับ
  • ไขมันสีน้ำตาล (Brown adipose tissue ; BAT) ไขมันชนิดนี้พบมากในช่วงวัยเด็ก และลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในเซลล์ไขมันชนิดนี้มีไมโทคอนเดรียเป็นจำนวนมาก และการมีสีน้ำตาลนั้นเมาจากการมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ มีบทบาทในการสลายพลังงาน (energy catabolism) รวมทั้งเผาผลาญไขมันสีขาว เพื่อเปลี่ยนเป็นความร้อนมาใช้ในการรักษาสมดุลของอุณหภูมิในร่างกาย
ไขมันในหลอดเลือด

การสะสมของไขมันในร่างกาย พบได้ในหลายบริเวณ

  1. ไขมันในหลอดเลือด ที่เรารู้จักกันในชื่อของไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ซึ่งตัวคอเลสเตอรอล จะแบ่งได้อีก 2 ชนิด คือ HDL เป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี และ LDL เป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลว ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดไขมันอุดตันเส้นเลือด
  2. ไขมันในช่องท้อง หรือ Visceral Fat เป็นไขมันส่วนที่อันตรายที่สุด แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ไขมันชนิดนี้มักเกาะตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้รอบเอวหนา หน้าท้องป่องยื่น คนที่มีไขมันช่องท้องปริมาณมาก มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพตามมาได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 3 เท่า สำหรับการกำจัดไขมันประเภทนี้ ไม่สามารถใช้ทางลัดหรือเทคโนโลยีทางด้านความงาม รวมทั้งการดูดไขมัน (Liposuction) ได้ ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต ทั้งการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
  3. ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง หรือ Subcutaneous Fat โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของไขมันทั้งหมดในร่างกายจะเกิดการสะสมในชั้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณแขน ต้นขา หน้าท้อง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจเกิดเป็นรอยแตกลาย หรือเซลลูไลท์ ซึ่งสร้างความกังวลใจให้หลายๆ คนได้
  4. ไขมันดื้อ หรือ Stubborn Fat เป็นไขมันใต้ผิวหนังประเภทหนึ่ง มักพบตามหน้าท้องช่วงล่าง สะโพก ขา รวมถึงบริเวณเหนียงใต้คาง เหตุผลที่ถูกเรียกว่า “ไขมันดื้อ” เพราะกำจัดออกยากมากแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีความงามที่พัฒนามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาไขมันประเภทนี้โดยเฉพาะ

รู้ได้อย่างไร ... ว่าเราอ้วนเกินไปหรือเปล่า?

1. การวัดความอ้วนหรือผอมอาจมีด้วยกันหลายวิธี เริ่มกันด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ซึ่งก็คือการเปรียบเทียบความสูงกับน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย

  • ผู้ชาย :  น้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ความสูง (เซนติเมตร) ลบด้วย 100
  • ผู้หญิง :  น้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ความสูง (เซนติเมตร) ลบด้วย 110

2. วัดจากการหาค่าดัชนีมวลกาย* (Body Mass Index : BMI) ซึ่งเป็นค่าสากลที่นิยมใช้ทั่วไป มีสูตรคำนวณดังนี้

  • BMI  = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2

*ค่านี้อาจคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะผู้ที่เล่นกล้าม ที่จะมีน้ำหนักกล้ามเนื้อค่อนข้างมาก ทำให้ค่า BMI สูงได้โดยที่แทบไม่มีไขมันในร่างกายเลย

3. วัดจากเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย (Body fat) มีหลากหลายวิธี ตัวอย่างที่ง่ายคือ การคำนวณด้วยสมการ

  • % ปริมาณไขมันในร่างกายสำหรับผู้ชาย = (1.2 x ดัชนีมวลกาย) + (0.23 x อายุเป็นปี) – 16.2
  • % ปริมาณไขมันในร่างกายสำหรับผู้หญิง = (1.2 x ดัชนีมวลกาย) + (0.23 x อายุเป็นปี) – 5.4

โดยค่ามาตรฐานในผู้ชาย จะมีปริมาณ Body fat 15-20% และในผู้หญิง จะมีปริมาณ Body fat 25–30% หากพบว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่สูงเกินกว่านี้ จะจัดว่าอ้วน อาจเปรียบเทียบจากรูปภาพได้ดังนี้

การหาค่าดัชนีมวลกาย* (Body Mass Index : BMI)
การหาค่าดัชนีมวลกาย* (Body Mass Index : BMI)
การหาค่าดัชนีมวลกาย* (Body Mass Index : BMI)

เรื่องของไขมันเป็นสิ่งใกล้ตัวคู่ความสวยและสุขภาพของเรา การได้ทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับไขมัน จะทำให้เราเข้าใจถึงองค์ประกอบของมัน ทำให้การดูแลตัวเองง่ายขึ้น หากใครที่มีปัญหาไขมันส่วนเกินอยู่ จะช่วยให้ง่ายต่อการศึกษาหาวิธีในการกำจัดไขมันและดูแลรูปร่างให้กลับมาสวยงามได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น