Open on Mon – Fri 09:00-18:00

facebook technicalbiomed
ประโยชน์ของขน

มารู้จัก "ขน" อวัยวะใกล้ตัวที่มากด้วยประโยชน์

นอกจากความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างผิวหนัง และหน้าที่ของผิวหนัง เพื่อการดูแลตัวเองได้อย่างตรงจุดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจซึ่งมักถูกมองข้ามไปนั้น คือ.. เรื่องของ “ขน” ซึ่งตามจริงแล้ว เจ้าขนเส้นเล็กๆ นั้น เป็นอวัยวะที่อยู่คู่กับเราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย อยู่ทั่วร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ยกเว้นบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้าเท่านั้นเอง รวมๆ แล้ว มีจำนวนกว่าหลายล้านเส้น ซึ่งแม้ว่า “ขน” เหล่านี้ อาจไม่ได้มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของเรา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าขนเหล่านี้มีความสำคัญต่อจิตใจของเราไม่มากก็น้อย ทั้งการเพิ่มความมั่นใจ เพิ่มความความสวยความงาม และสามารถจำแนกเชื้อชาติของคนได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย 

นิยามของคำว่า "ขน"

ขน” หรือ Hair เป็นหนึ่งในอวัยวะของร่างกายที่มีความซับซ้อน และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามบริเวณของร่างกาย เช่น ผม คิ้ว หนวด เครา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นขนทั้งสิ้น เส้นขนโดยทั่วไปมีองค์ประกอบหลักเป็นเส้นใยโปรตีน ที่เรียกว่า เคราติน หน้าที่หลักเพื่อปกคลุมร่างกาย ปกป้องผิวจากอันตรายต่างๆ รักษาอุณหภูมิ และเป็นอวัยวะรับความรู้สึกอย่างหนึ่งในร่างกายด้วย

 

เราสามารถจำแนกประเภทของเส้นขนได้อย่างกว้างๆ เป็น 3 ประเภท คือ

  • ขนอ่อน (Lanugo Hair) เป็นขนชุดแรกของเราตั้งแต่เป็นทารกในช่วงอายุครรภ์ 16- 20 สัปดาห์ มีลักษณะเป็นเส้นบาง อ่อนนุ่ม และสีอ่อนมาก ขนชุดนี้มักหลุดออกจากร่างกายตั้งแต่ก่อนคลอด หรือหลังคลอดไม่เกิน 2-3 สัปดาห์
  • ขนเวลลัส (Vellus Hair) เป็นขนที่มีความยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 30 ไมครอน มีลักษณะสั้น บาง และสีอ่อน มักพบตามใบหน้า และลำตัว มีหน้าที่ในรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่
  • ขนเทอร์มินัล (Terminal Hair) เป็นขนสีเข้ม เส้นใหญ่ ค่อนข้างหนาและหยาบ มีความยาวมากกว่า 1 เซนติเมตร ซึ่งได้แก่ เส้นผม ขนคิ้ว หนวด เครา ไปจนถึงขนบริเวณใต้วงแขน และจุดซ่อนเร้น

ความสำคัญของ "ขน" แต่ละประเภท

เราทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เกือบทั่วทุกส่วนของร่างกายจะถูกปกคลุมไปด้วย “ขน” ซึ่งขนแต่ละบริเวณก็มีความสำคัญแตกต่างกันออกไปดังนี้ค่ะ

 

เส้นผม

เป็นขนชนิดหนึ่งที่ขึ้นปกคลุมหนังศีรษะ มีประมาณ 1 แสนเส้น มีการหลุดร่วงเป็นปกติ ในทุกๆ วัน วันละ 10-100 เส้น หน้าที่หลักของเส้นผม เพื่อปกป้องหนังศีรษะจนถึงช่วงท้ายทอยของเราไม่ให้ได้รับความร้อน และแสงแดดมากจนเกินไป ทั้งช่วยปกป้องอวัยวะสำคัญบริเวณศีรษะ หรือ สมอง จากการกระทบกระเทือนหรือแรงกระแทก ป้องกันฝุ่นละออง และอันตรายต่างๆ รวมถึงเหงื่อไม่ให้เข้าสู่ใบหน้ามากจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีผลต่อบุคลิกภาพของเราทุกคนไม่มากก็น้อยอีกด้วย 

 

คิ้ว

เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คิ้ว” คือ มงกุฎของใบหน้า คิ้วเป็นหนึ่งในชนิดเส้นขนที่ค่อนข้างสำคัญในการเสริมความมั่นใจด้านความสวยงามของทั้งชายและหญิง ซึ่งเราคงคุ้นชินกันเรื่องยาปลูกคิ้ว สำหรับผู้มีปัญหาคิ้วน้อย สำหรับหน้าที่ของคิ้ว คือ การปกป้องสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาเนื่องจากเป็นบริเวณที่ไวต่อการรับสัมผัสมาก และเรายังสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านทางคิ้วได้อีกด้วย

 

ขนตา

ขนตามีหน้าที่ในการป้องกันฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ดวงตาเช่นเดียวกับคิ้ว ขนตามีความบอบบาง หลุดร่วงได้ง่าย และสามารถช่วยลดการระเหยของน้ำตา เพื่อเป็นการรักษาความชุ่มชื้นให้ดวงตาได้อีกระดับหนึ่ง ทั้งยังเสริมความคมชัดให้กับดวงตาเวลาที่เราแต่งหน้า 

 

ขนจมูก

จมูก เป็นอวัยวะที่เราใช้หายใจ ดังนั้นขนจมูกของเราจึงนับว่ามีความสำคัญมาก มีหน้าที่ในการกรองฝุ่นละออง เชื้อโรคและสิ่งสกปรก ไม่ให้เข้าสู่ปอดของเรา หากไม่มีเจ้าขนจมูกนี้ ร่างกายอาจได้รับเชื้อโรคต่างๆ โดยตรง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและผลเสียต่อสุขภาพ

 

ขนรักแร้

เป็นขนที่หลายๆ คน ต้องการกำจัดออก ตามจริงแล้ว ขนรักแร้มีประโยชน์กับเรา โดยช่วยลดการเสียดสีกับผิวหนังบริเวณนั้น ช่วยลดเหงื่อ และป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้ติดกับผิว และเป็นตัวช่วยกระจายตัวของฟีโรโมน (สารเคมีประเภทหนึ่งในการดึงดูดเพศตรงข้าม) แต่หากเราขาดการดูแลความสะอาด อาจทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เป็นที่มาของกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ และอาจเกิดเป็นเชื้อราได้อีกด้วย

 

ขนในจุดซ่อนเร้น

เป็นขนที่ค่อนข้างมีความสำคัญมากๆ ต่อทั้งผู้หญิง และผู้ชาย มีหน้าที่หลากหลาย ทั้งช่วยป้องกันกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ การป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรียต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ภายในช่องคลอด รวมทั้งช่วยลดการเสียดสีขณะมีเพศสัมพันธ์และการเสียดสีกับกางเกงชั้นในด้วย นอกจากนี้เส้นขนในบริเวณจุดซ่อนเร้นของผู้ชายนั้น ช่วยในการรักษาอุณหภูมิทำให้สเปิร์มสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกด้วย

 

ขนบริเวณร่างกาย

หน้าที่สำคัญคือช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ และป้องกันไม่ใช้ปรสิตตัวน้อยๆ ไม่ให้กัดผิวหนังและนำเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย

จะเห็นได้ว่า ความจริงแล้ว เจ้าขนเส้นเล็กๆ เหล่านั้น ล้วนมีประโยชน์กับเรา ขนในบางบริเวณอาจต้องการการดูแลรักษาความสะอาดที่มากขึ้น เพื่อป้องกันการสะสมของเหงื่อ ไคล และแบคทีเรีย จนอาจส่งผลร้ายตามมา ความหนาหรือบางของขน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งเพศ เชื้อชาติ พันธุกรรม ซึ่งหากใครที่กังวลในเรื่องของความสวยความงาม ต้องการที่จะกำจัดขนส่วนเกินออกไป  ก็ล้วนแล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคลนะคะ แต่ก่อนที่เราจะเลือกเทคโนโลยีหรือวิธีการต่างๆ ในการกำจัดขนที่ไม่พึงประสงค์ออกไปจากร่างกาย เรามาทำความรู้จักให้ลึกลงไปถึงโครงสร้างและวงจรชีวิตของขนกันค่ะ

โครงสร้างของขน

โครงสร้างของขน

   เส้นขนแบ่งหลักๆ ได้ 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังลงไป ซึ่งเราเรียกรวมว่า รากขน (Hair root) และส่วนที่พ้นผิวหนังออกมาสู่ภายนอก เรียก เส้นขน (Hair Shaft)

 

   ขนเติบโตมาจากรากขน (Hair root) ที่วางตัวอยู่ในลักษณะเฉียง เจริญอยู่ในรูขุมขน (Hair follicle) ที่มีรูปร่างคล้ายหลอด ฝังตัวอยู่บริเวณชั้นหนังกำพร้าลึกลงไปสู่หนังแท้ ที่บริเวณปลายสุดของรากขน มีลักษณะโป่งพองออกเป็นทรงกระเปาะ ที่มีส่วนเว้าเข้าด้านในรูปทรงคล้ายกับคีม เรียกว่า กระเปาะผม (Hair bulb) นอกจากนั้น บริเวณส่วนปลายลึกสุด จะมีส่วนชั้นหนังแท้คล้ายกับนิ้วมือยื่นเข้ามาในโพรงของ hair bulb ซึ่งก็คือ แฮร์พะพิลลา (Hair papillae) เป็นที่อยู่ของ hair matrix ที่มีเส้นประสาทและเลือดมาหล่อเลี้ยง ซึ่งมีความสำคัญต่อการงอกและเติบโตของเส้นขน ทั้งยังเป็นส่วนที่สร้างเคราตินและเม็ดสีในเส้นขน หากแฮร์พะพิลลานี้ตายหรือเสื่อมสภาพไป จะทำให้เส้นขนขาดสารอาหารและหลุดออกไปโดยไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีก

 

   เส้นขน (Hair Shaft) เป็นส่วนที่โผล่พ้นออกมาเหนือผิวหนัง มีโปรตีนที่เรียกว่าเคราติน มากกว่า 95% เป็นองค์ประกอบหลัก โดยเคราติน ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนและแร่ธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ โดยเส้นขนนั้นมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องผิวจากมลภาวะต่างๆ ที่อาจกระทบ รวมทั้งช่วยในการรักษาอุณหภูมิร่างกาย

 

หากเรามองภาพตัดขวางของเส้นขนจะแบ่งได้ออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

  1. เกล็ดผม (Cuticle) เป็นชั้นนอกสุด มีลักษณะโปร่งแสง ประกอบด้วยเคราติน มีลักษณะเป็นชั้นคล้ายเกล็ดปลาเรียงซ้อนกัน 5- 10 เกล็ด มีความหนาประมาณ 0.5-1.0 ไมครอน ทำหน้าที่ป้องกันสิ่งสกปรกไม่ให้ซึมผ่านเข้าไปทำลายโครงสร้างภายในของเส้นขน รวมทั้งลดการสูญเสียความชุ่มชื้นภายในเส้นขนอีกด้วย
  2. เนื้อผม (Cortex) เป็นชั้นที่มีความสำคัญมากที่สุด และหนาที่สุด ประกอบด้วยเซลล์รูปกระสวยที่มีเส้นใยโปรตีนเรียงอัดแน่นตามแนวยาว มีความหนาประมาณ 50-100 ไมครอน ซึ่งเส้นใยโปรตีนนี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับเส้นขน และยังเป็นมีเมลาโนไซต์ซึ่งเป็นตัวสร้างเม็ดสีซึ่งเป็นตัวกำหนดสีขนที่แตกต่างกันตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล
  3. แกนผม (Medulla) เป็นส่วนของแกนเส้นขนที่อยู่ชั้นในสุด เกิดจากโปรตีนและไขมัน มักพบในผมที่มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง

วงจรของเส้นขน

เมื่อเรารู้ถึงโครงสร้าง หน้าที่การทำงาน และประโยชน์ของเจ้าขนเส้นน้อยๆ ไปแล้ว ส่วนสุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้และสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือ เรื่องวงจรชีวิตของขน ตั้งแต่การเติบโตจนหลุดร่วงออกไป โดยขนแต่ละบริเวณจะมีช่วงเวลาชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักแล้ว จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

  1. ระยะเติบโต (Anagen Phase) เป็นช่วงที่เส้นขนมีการเจริญเติบโต มีการแบ่งเซลล์ และได้รับสารอาหารต่างๆจากเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยง  โดยเส้นขนต่างๆ ในร่างกาย กว่า 85% มักอยู่ในระยะนี้ มีอายุได้นานประมาณ 3 ปี หากไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ
  2. ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen Phase) เป็นระยะที่เส้นขนหยุดการเจริญเติบโต เส้นขนหลุดออกจากเส้นเลือดทำให้ไม่ได้รับสารอาหารต่างๆ มาหล่อเลี้ยง และเริ่มเข้าสู่ระยะหลุดร่วง โดยระยะนี้จะมีระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น
  3. ระยะหลุดร่วง (Telogen) เป็นระยะสุดท้ายที่เส้นขนกำลังหลุดร่วงออกจากโคนขน มีระยะเวลาเฉลี่ย 1-3 เดือนและมีขนเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ เป็นการกลับเข้าสู่ระยะ Anagen Phase อีกครั้ง

เมื่อได้รู้ถึงวรจรของเส้นขนเหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการหลุดออก ก็มีการเกิดขึ้นใหม่ได้เป็นปกตินะคะ ส่วนอีกหนึ่งข้อที่ควรรู้คือ หากใครกำลังมองหาเทคโนโลยีในการกำจัดขนส่วนเกินออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น การแวกซ์ การใช้ IPL หรือเลเซอร์ จะสามารถกำจัดเส้นขนได้เฉพาะระยะ Anagen เท่านั้น และผลการรักษาที่ได้ในเรื่องของระยะเวลาที่ขนหายไป อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละเทคโนโลยีและบริเวณของเส้นขนที่เลือกกำจัดออก